วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วันสาทไทย


วันสารทไทย



 คำว่า “สารทไทย” หมายถึง เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบของไทย จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งมักจะตกราว ๆ ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม
วันสารทไทย ก็คือประเพณีทำบุญกลางปีเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่มีชีวิตผ่านพ้นเวลามาได้ถึงกึ่งปี ในขณะเดียวกันก็ถือโอกาสทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชน เพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณไปด้วย โดยขนมที่นิยมใช้ทำบุญในช่วงนี้ คือกระยาสารท ข้าวยาคู หรือข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาส


 ประวัติวันสารทไทย

หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนได้กล่าวไว้ ว่า สารท ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ (งานรื่นเริงตามธรรมเนียมตามฤดูกาล) เป็นที่นิยมของคนทั้งปวงทั่วไปว่าเป็นสมัยที่ได้ทำบุญ เมื่อปีเดือนวันคืนล่วงมาถึงกึ่งกลางรอบ ด้วยเหตุว่า เราถือเอากำหนด พระอาทิตย์ลงไปที่สุดทางใต้ กลับมาเหนือถึงกึ่งกลางปีเป็นต้นปี ครั้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปเหนือจนสุดทางจะกลับลงใต้ มาถึงกึ่งกลางก็เป็นพอบรรจบกึ่งกลางปี ” พูดง่ายๆ ก็คือ วันสารทไทย ถือเป็นวันทำบุญกลางปี ด้วยว่าสมัยก่อนเราถือเอาวันสงกรานต์ ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนเมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นช่วงเดือนสิบ จึงตกราวกลางปีพอดี คนทั่วไปจึงนิยมทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เสมือนเป็นการเตือนใจตัวเองว่า ชีวิตได้ดำเนินผ่านมาถึงกึ่งปีแล้ว ชีวิตข้างหน้าที่เหลือควรจะได้สร้างบุญกุศลไว้เพื่อความไม่ประมาท ซึ่งนอกจากการทำบุญดังกล่าวแล้ว ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับอีกด้วย
พระยาอนุมานราชธนได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่า คำว่า “ สารท ” เป็นคำอินเดีย หมายถึง เป็นหนึ่งใน ฤดู ภายในปีหนึ่งๆ ที่ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “Autumn” คือ "ฤดูใบไม้ร่วง" ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้เริ่มสุก และให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า “Seasonal Festival” โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า “ ผลแรกได้ ” นี้ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ เป็นต้น
ส่วน สารทเดือนสิบ อันหมายถึงการทำบุญเดือนสิบ หรือวันสารทไทยของเรานั้น พระยาอนุมานราชธนได้สันนิษฐานว่า น่าจะนำมาจากคติของอินเดีย เกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง ผลแรกได้ อย่างที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน แต่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูสารทหรือช่วงฤดูใบไม้ร่วงของบางประเทศที่ว่า จะตกอยู่ในราว ๆ เดือน 10 ทางจันทรคติของไทย ซึ่งโดยความจริงข้าวของเราจะยังไม่สุก มีเพียงผลไม้บางชนิดเท่านั้นที่สุก ครั้นเรารับความเชื่อนี้มา จึงมีปรับเปลี่ยนใช้ข้าวเก่าทำเป็นข้าวเม่า ผสมกับถั่ว งาและสิ่งอื่นกลายเป็น ขนมกระยาสารท ขึ้นมา ซึ่งเมื่อแรกๆก็คงมีการนำไปสังเวยเทวดา และผีสางต่างๆตามความเชื่อดั้งเดิมด้วย ต่อมา เมื่อเรานับถือศาสนาพุทธ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นการทำบุญถวายพระ และมักมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับตามความเชื่อเดิมที่ว่าหากไม่ ได้ทำบุญตักบาตรกระยาสารท ผีปู่ย่าตายายจะได้รับความเดือนร้อนอดๆอยากๆ เท่ากับลูกหลานไม่กตัญญู นอกจากนี้ ระยะเวลาดังกล่าว ยังเป็น ช่วงกล้วยไข่สุกพอดี จึงมักถวายไปพร้อม ๆ กัน การทำบุญเดือนสิบนี้มีในหลายภูมิภาค เช่น ทางอีสาน เรียกว่า บุญข้าวสาก หรือสลากภัต เป็นหนึ่งในฮีตสิบสอง อันเป็นการทำบุญอุทิศให้ผู้ตายหรือเปรต โดยข้าวสากจะทำด้วยข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอกคลุกเข้ากันผสมกับน้ำตาล น้ำอ้อย ถั่ว งา มะพร้าวคล้ายๆ กระยาสารทของภาคกลาง โดยมักจะทำราวกลางเดือนสิบ ห่างจากการทำบุญข้าวประดับดิน ที่ทำในช่วงสิ้นเดือน 9


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น